แก้ไขหูกาง

 การผ่าตัดหูกาง มีเทคนิคการผ่าตัดหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน โดยการเลือกวิธีการผ่าตัดว่าวิธีใดเหมาะสมจะต้องวิเคราะห์ที่ความผิดปกติแต่ละส่วนและแก้ไขความผิดปกตินั้นๆ ดังนั้นก่อนผ่าตัดจะต้องปรึกษาแพทย์ และบอกความต้องการให้ชัดเจนว่าต้องการแก้ไขในส่วนใดบ้าง การปรึกษาก่อนการผ่าตัดจะช่วยปรับความต้องการของคนไข้ ว่าเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่และการวิเคราะห์ความผิดปกติของใบหูแต่ละข้าง จะช่วยให้สามารถเลือกเทคนิคที่ถูกต้อง เหมาะสมกับความผิดปกตินั้นๆ เทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัด หูซ้ายและหูขวาอาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากหูข้างหนึ่งอาจมีความแตกต่างจากหูอีกข้างหนึ่ง เช่น หูซ้ายอาจกางน้อยกว่าหูขวา มุมที่แก้ไขก็จะไม่เท่ากัน

           การตัดสินใจเลือกเทคนิควิธีการผ่าตัด จำเป็นต้องพิจารณาความผิดปกติของใบหูของผู้ป่วยแต่ละราย
ปัญหาเรื่องหูกางในประเทศไทยพบมากแต่มีปัญหาทางสังคมน้อยผิดกับในต่างประเทศ ที่เด็กที่ไปโรงเรียนมักถูกเพื่อนล้อบ่อยๆ ทำให้ผู้ปกครองต้องนำมารับการผ่าตัด ตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างไรก็ตาม การผ่าตัดหูกางอาจทำได้ในทุกอายุตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียน โดยทั่วไปหูกางมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง แต่ในบางรายอาจเกิดข้างเดียวได้
รูปร่างใบหูที่ดูสวยงาม ควรมีลักษณะ ดังนี้
   1. แนวโค้งของส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นธรรมชาติ ไม่เด่นชัดเกินไป
   2. เวลามองหน้าตรงไบหูไม่ควรมองเห็นเด่นชัดมากกว่าส่วนอื่นของใบหน้า
   3. ขอบนอกของใบหู (Helix) ควรมองเห็นชัดจากภาวะหน้าตรง การแก้ไขใบหูจนขอบกลางของใบหู (Ant helix) มีความโค้งชัดเจนมากกว่าขอบนอก (helix) จะทำให้ใบหูดูไม่เป็นธรรมชาติ

การเลือกเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขหูกาง
จำเป็นต้องเลือกและวางแผนผ่าตัด ขณะที่ทำการปรึกษาก่อนการผ่าตัด โดยต้องวิเคราะห์ ปัญหา ความผิดปกติของใบหูนั้นๆ แล้วแพทย์ต้องตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใดบ้าง โดยทั่วไปสาเหตุหลักของหูกาง คือ

   1. ขอบกลางของใบหู (Ant he lix) มีลักษณะ แบนและมุมกางเกินไป
   2. คองกา (concha) ของใบหูมีขนาดใหญ่หรือลึกเกินไป    

สาเหตุของหูที่กางอาจเกิดจากสาเหตุที่ 1 หรือ 2 หรือทั้ง 2 สาเหตุ การตัดสินใจว่าจะใช้การผ่าตัดใดก็พิจารณาปัญหาว่าเกิดจากขอบกลางของใบหูหรือ คองกา โดยทั่วไปมักเกิดจากสาเหตุแรก การผ่าตัดก็มักจะเลือกแก้ไขในส่วนของขอบกลาง (Ant helix) แต่ในบางรายที่มีสาเหตุจาก คองกา มีขนาดใหญ่ ถ้าไม่ทำการแก้ไขในส่วนนี้ อาจทำให้รูปร่างไม่สวยงาม เนื่องจากใบหูจะแบนราบลง แต่ส่วน คองกา จะนูนขึ้นมาทำให้ดูผิดธรรมชาติ

นอกจากสาเหตุทั้งสองแล้วในคนไข้ แต่ละรายต้องพิจารณาด้วยใบหูที่กางมีส่วนที่ขอบบนของใบหูและติ่งหู มีมุมกางออกด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีปัญหานี้ร่วมด้วยควรต้องแก้ไขโดยต้องเย็บส่วนขอบบนและติ่งหู เพื่อให้รูปร่างสวยงาม ถ้าไม่แก้ไข ปัญหานี้หลังจากแก้ไขหูกางแล้วจะมีปัญหาของหูรูปโทรศัพท์ได้ (Telephone ear

การดูแลหลังการผ่าตัด
 
   1. ปิดแผลไว้ประมาณ 2 วัน ในวันที่ 2 หรือ 3 แพทย์จะนัดทำแผลที่คลินิกควรระมัดระวังไม่ให้ผ้าก๊อซหรือสำลีปิดแผลหลุด โดยทั่วไป อาการบวมที่ใบหูจะดีขึ้นเมื่อ 2 - 4 อาทิตย์
   2. หลังจากเปิดแผลแล้วให้ทายาแก้อักเสบที่แผลทั้ง 2 ข้าง วันละ 2 ครั้ง จนถึงวันตัดไหม
   3. ถ้ามีปัญหาเลือดออกมาก หรือบวมมากให้มาพบแพทย์ก่อนเวลานัดได้
   4. ใช้ผ้าคาดศีรษะให้ใบหูแนบกับศีรษะเวลานอน เป็นเวลา 2 - 3 อาทิตย์ หลังจากเปิดผ้าปิดแผล
   5. แพทย์จะนัดตรวจอีกครั้ง ประมาณ 1 อาทิตย์ ตัดไหม ประมาณ 2 อาทิตย์
   6. งดดื่มสุราและบุหรี่ ประมาณ 1 อาทิตย์
   7. โดยทั่วไปหลังผ่าตัดตกแต่งใบหูจะไม่ปวดมากยกเว้น ถ้ามีการกดทับบริเวณใบหู
   8. หลังจากเปิดแผลในวันที่ 2 หรือ 3 สามารถสระผมได้
   9. ในช่วง 2 อาทิตย์แรก ห้ามใช้ไดรเป่าผมที่ให้ลมร้อน เพราะอาจทำให้เกิดแผลจากความร้อนที่ใบหูได้
   10. สามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น
   11. งดเล่นกีฬาหนัก ประมาณ 1 อาทิตย์ ใน 2 อาทิตย์แรก ไม่ควรนอนตะแคง ควรนอนหงาย ไม่นอนทับใบหู
   12. เด็กเล็กให้หยุด ประมาณ 7 วัน หลังผ่าตัดและงดให้เล่นกีฬาและงดเล่นยิมนาสติก 2 อาทิตย์
   13. โดยทั่วไป อาการบวมที่ใบหูจะดีขึ้นเมื่อ 2 - 4 อาทิตย์
   14. ใช้น้ำเกลือเช็ดแผลและทายาฆ่าเชื้อที่บริเวณด้านหลังของใบหูวันละครั้ง และปิดทับด้วยผ้าก๊อซ และผ้าคาดศีรษะ ประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจาก 1 อาทิตย์ ไม่ต้องใช้ผ้าก๊อสปิดแผลใช้ผ้าคาดศรีษะคาดทับใบหูได้เลย

ผลการรักษาและผลข้างเคียง

   1. โดยทั่วไป ความคาดหวังหลังการผ่าตัดควรทำให้ใบหูมีลักษณะสวยงาม แต่เป็นธรรมชาติ การผ่าตัดที่มีใบหูพับงอมากเกินไป จนกระทั่งติดด้านข้างของศีรษะมากเกินไป  ถือเป็นการแก้ไขที่มากเกินธรรมชาติและผลที่ออกมาก็ดูไม่สวยงาม
   2. การงอใบหูมากเกินไป ทำให้ขอบกลาง (anti helix) ของใบหูนูนเกิน ในกรณีนี้อาจเกิดจากการที่คองกามีขนาดใหญ่และลึก แต่ไม่ได้ผ่าตัดบริเวณคองกาทำให้ต้องงอบริเวณขอบกลางมากจนเกินปกติ
   3. ใบหูโทรศัพท์ (Telephone ear) เกิดจากการไม่สมดุลในการงอกระดูกอ่อนของใบหู โดยที่พับงอ บางส่วนกลางใบหูแต่ส่วนบนและส่วนล่างไม่ได้พับงอ 

Visitors: 53,883